SHARE
JOHN DEWAR AND SONS

ศาสตร์และศิลป์ แห่งการดื่มด่ำ Single Malt

SHARE


หนุ่มๆ นักดื่มคงไม่มีใครปฏิเสธว่า วิสกี้ คือ หนึ่งในเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้กับโมงยามของชีวิตในวาระที่ต้องการปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ได้หลุดพ้นจากห้วงพันธนาการ ยิ่งโดยเฉพาะกับ สกอตวิสกี้ และ ซิงเกิ้ลมอลต์ อีกหนึ่งความนิยมที่สุภาพบุรุษนักดื่มต่างเปิดใจยอมรับในมาตรฐานของวิสกี้คุณภาพระดับโลก แต่เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าจริงๆ แล้วดื่มแบบไหนจึงจะคุ้มค่ากับตัวตนและเข้าใจจิตวิญญาณของ สกอตวิสกี้ ในแก้ว ที่อยู่ในมือเราอย่างแท้จริง 
 

MEET THE MASTER


ต้องถือว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ จอร์จี เบลล์ (Georgie Bell) โกลบอล แบรนด์แอมบาสเดอร์ชื่อดังของ John Dewar & Sons เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมพูดคุย พร้อมร่วมรับประทานอาหารและแนะนำศาสตร์และศิลป์แห่งการดื่มด่ำซิงเกิ้ลมอลต์ แบรนด์ระดับโลกจากสกอตแลนด์


ก่อนที่จะได้รู้ลึกถึงวัฒนธรรมการดื่ม ซิงเกิ้ลมอลต์ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับจอร์จี เบลล์ และได้คลายข้อสงสัยในเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะอันเป็นคุณสมบัติทางกายภาพเฉพาะตัวของสกอตวิสกี้ ที่มีกฎกติกาบังคับไว้ว่า สกอตวิสกี้ ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ  1 วัถุดิบที่ใช้ในการผลิต และกระบวนการผลิตทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นและอยู่ภายในสกอตแลนด์เท่านั้น  ต้องมีความแรงของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 40% แต่ไม่เกิน 94.8% บ่มในถังไม้โอ๊คที่มีขนาดความจุไม่เกิน 600 ลิตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี  จะต้องมีสี, กลิ่น และรสชาติที่สะท้อนและบ่งบอกได้ถึงตัวตนหรือเนื้อแท้ของวัตถุดิบที่ใช้ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตโดยตรง และข้อสุดท้าย ไม่มีการเพิ่มเติมสารปรุงแต่งใดๆ ยกเว้นสีคาราเมลประเภท E150A เท่านั้น


จากการพูดคุยกับ จอร์จี เบลล์ สาวชาวอังกฤษผู้ชื่นชอบและเชี่ยวชาญในศาสตร์ของการดื่มอย่างมีอารยะ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอมาเยือนเมืองไทย แต่อาจนับเป็นครั้งแรกที่มาในฐานะ โกลบอล แบรนด์แอมบาสเดอร์ ของ John Dewar & Sons 

และอย่างที่รู้ๆ กันดีกว่าสกอตแลนด์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผลิตวิสกี้ เพราะในโลกของการดื่มวิสกี้นั้น เรายังมี Irish Whiskey, Japanese Whisky, Indian Whisky แต่ก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า สกอตวิสกี้นั้น ไม่ได้เป็นรองใคร อาจจะพูดได้ว่าเป็นประเทศที่ผลิตวิสกี้มากที่สุกและดีที่สุดก็ย่อมได้

จอร์จี เบลล์ ได้เล่าให้ฟังถึงความต่างขั้นพื้นฐานของเอกลักษณ์เฉพาะของสกอตวิสกี้ ที่นอกจากจะต้องมีขบวนการผลิตและใช้วัตถุดิบภายในประเทศสกอตแลนด์แล้ว คุณลักษณะเฉพาะของรสสัมผัสและต้นทุนวัตถุดิบก็ส่งผลต่อการเรียกขานที่ต่างกัน ซึ่งอย่างที่หลายๆ คนรู้ดีอยู่แล้วว่า ซิงเกิ้ลมอลต์ วิสกี้ (Single Malt Whisky) คือ วิสกี้ ที่ผลิตจากเมล็ดของมอลต์เพียงอย่างเดียว จึงจัดเป็นวิสกี้ระดับสูง และมักจะหมักบ่มมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ส่วน เกรน วิสกี้ (Grain  Whisky) คือ วิสกี้ ที่ผลิตจากธัญพืชต่างๆ  ทั้งนี้ เกรน วิสกี้ จะอาศัยความร้อนในการกลั่นสูง ทำให้ได้แอลกอฮอล์ที่เบาบางกว่า จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันมากนัก ส่วน เบล็นเดด วิสกี้ (Blended Whisky) ที่จัดได้ว่าค่อนข้างเป็นที่นิยมและแพร่หลายที่สุด เพราะเกิดจากการผสมผสานระหว่าง ซิงเกิ้ลมอลต์ วิสกี้ ผสมกับเกรนด์ วิสกี้ เข้าด้วยกันตามสูตรเฉพาะของมาสเตอร์ผู้ปรุงวิสกี้ โดยมักจะมีส่วนผสมของเกรน วิสกี้ มากกว่ามอลต์ วิสกี้  และ ดีลักซ์ วิสกี้ (DELUXE Whisky) นับว่าเป็น เบล็นเดด วิสกี้ ระดับสูง หายาก เก็บบ่มไว้นานปีด้วยวิธีพิเศษ หรือได้รับการปรุงขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษเท่านั้น และถ้าเป็น ดีลักซ์ เบล็นเดด วิสกี้ (DELUXE Blended  Whisky) ก็มักจะมีส่วนผสมของมอลต์ วิสกี้ มากกว่า เกรน วิสกี้ และจะต้องเก็บบ่มไว้นานกว่า 12 ปี ซึ่งทุกประเภทเมื่อมีคำว่า SCOTCH ต่อท้ายขึ้นไป เช่น Single Malt Whisky SCOTCH ก็จะมีแรงดึงดูดเพิ่มความไว้วางใจในมาตรฐานที่แตกต่างได้อย่างไม่ต้องลังเล


DEWAR’S  WHISKY HERITAGE 


สำหรับ ซิงเกิ้ลมอลต์ จาก “JOHN DEWAR & SONS” หนึ่งในแบรนด์ของ สกอตวิสกี้ ที่เป็นที่ยอมรับในความละมุนของรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเราเชื่อว่าวิสกี้แบรนด์นี้ กำเนิดขึ้นภายในครอบครัวของนักดื่มตัวยงอย่างแน่นอน



“JOHN DEWAR & SONS” เป็นธุรกิจของครอบครัวที่เริ่มจากคุณพ่อ John Dewar เมื่อปี 1846 ตอนนั้นเป็นเพียงร้านจำหน่ายไวน์และเหล้าเล็กๆ ในเมืองเพิร์ท สกอตแลนด์ ว่ากันว่าเพราะวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลและแม่นยำในการทำธุรกิจ แบบอยู่ถูกที่ มาถูกเวลาในตอนนั้น ทำให้ธุรกิจของครอบครัว JOHN DEWAR & SONS เติบโตและกลายเป็นแบรนด์วิสกี้ของสกอตแลนด์ที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น



และสำหรับ Tommy Dewar ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของแบรนด์ ซึ่งในยุคนี้คงไม่ต่างอะไรจากการเป็น BRAND AMBASSADOR เท่าไหร่นัก เพราะทอมมี่ถึงขั้นไปไหนก็นำวิสกี้ของครอบครัวติดตัวไปด้วย เพราะนอกจากจะได้เป็นการแนะนำธุรกิจแล้ว ยังนับเป็นการสร้างเครือข่ายของฐานลูกค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย



ส่วน John Alexander Dewar เก่งและเชี่ยวชาญในการกำหนดแนวทางการตลาด การพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะของวิสกี้ของครอบครัว ทำหน้าเป็นนักธุรกิจตัวยงผู้กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสกอตวิสกี้ ภายใต้ชื่อ JOHN DEWAR & SONS อย่างแท้จริง




TASTE OF LIFE



ความสงสัยของเราเกิดขึ้น เมื่อพบว่าด้านหน้าของเรา ณ ตอนนี้ คือ สกอตวิสดี้ ซิงเกิ้ลมอลต์ ที่เป็นแบรนด์ดังระดับโลกถึง 3 ตัว ด้วยกัน คือ ABERFELDY12, AULTMORE 12 และ CRAIGELLACHIE 13 ซึ่งอย่างที่รู้กันดีว่า สกอตวิสกี้ และ ซิงเกิ้ลมอลต์ คืออีกหนึ่งความนิยมที่สุภาพบุรุษนักดื่มต่างเปิดใจยอมรับในมาตรฐานของวิสกี้คุณภาพระดับโลก แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจริงๆ แล้ว ต้องดื่มแบบไหนจึงจะคุ้มค่ากับตัวตนและเข้าใจจิตวิญญาณของ สกอตวิสกี้ ในแก้ว ที่อยู่ในมือเราอย่างแท้จริง และหากต้องดื่มคู่ไปกับการชิมอาหาร หรือดื่มระหว่างมื้อ อาหารที่นำมาเสิร์ฟคู่กันนั้น ควรเป็นอาหารรสชาติแบบไหน ถึงจะส่งเสริมและเชิดชูให้รสชาติของวิสกี้ที่ดีอยู่แล้ว มีรสสัมผัสที่ดีและน่าลิ้มรสมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก






จอร์จี เบลล์ บอกเล่าให้เราฟังว่า การดื่มวิสกี้ที่ดีนั้น ควรจะเข้าใจคุณลักษณะของรสชาติและรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิสกี้ก่อน รู้ลึกและเข้าใจว่าวิสกี้ตัวนี้ผลิตจากอะไร มีคุณสมบัติของรสชาติอะไรบ้างที่ซ่อนเร้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติในสัมผัสแรก หรือรสชาติที่ลึกล้ำซับซ้อนมากขึ้นในจิบต่อมา รวมไปถึงกลิ่นที่ได้รับขณะลิ้มรสในสัมผัสแรก หรือกลิ่นที่อบอวลตบท้ายหลังจิบ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องให้เวลาค่อยๆ พินิจพิเคราะห์ในทุกครั้งที่ได้มีโอกาสจิบหรือลิ้มรสวิสกี้แต่ละตัวที่มีความต่างกัน

ซึ่งหลักการตามความเข้าใจของการดื่มด่ำซิงเกิ้ลมอลต์ วิสกี้ที่ดีเยี่ยมนั้น คือการดื่มแบบสัมผัสรสชาติดั้งเดิมของวิสกี้แบบไม่มีอะไรมาเจือปนหรือผสมลงไป หรือที่เรียกกันว่าการดื่มแบบ Neat ซึ่งเป็นวิธีที่เทวิสกี้แบบเพียวๆ ในปริมาณพอประมาณแล้วค่อยๆ ละเมียดจิบทีละน้อยเพื่อดื่มด่ำกับรสสัมผัสอันนุ่มละมุนอย่างประณีตนั่นเอง และอีก 2 วิธีที่ตามมาคือการเติมน้ำเพียงเล็กน้อยด้วยการหยดผ่าน Whisky Dropper หรือการใส่น้ำแข็ง ที่นิยมใช้ Whisky Ice Ball ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ มีหลักการคล้ายๆ กัน คือ การอนุญาตให้อนุภาคของน้ำที่มีความควบแน่นแตกต่างจากวิสกี้ๆ ค่อยๆ ผสานและหลอมละลายเข้าหากันอย่างเนิบช้า แบบไม่จู่โจมจนทำให้เสียอรรถรสของซิงเกิ้ลมอลต์ วิสกี้ไป

และเมื่อเราถามว่า แล้วถ้าอยากจิบแบบเป็น ค็อกเทล จะทำได้ไหม ถือเป็นการผิดกฎหรือเปล่า

จอร์จี เบลล์ ตอบว่า ถ้ามองในมุมของนักดื่มทั่วไป ก็คงถูกตำหนิว่าจะเอาวิสกี้ดีๆ ไปทำค็อกเทลทำไม จะทำให้เสียรสชาติดั้งเดิมไปเปล่าๆ แต่ในฐานะที่ตัวเองมีชีวิตอยู่กับการดื่มที่น่าจะพูดได้ว่าดื่มเกือบทุกวันแล้ว ส่วนตัวคิดว่าการดื่มแบบค็อกเทลไม่ได้ผิดอะไร จริงๆ น่าจะถือเป็นเรื่องที่ดีเสียอีกที่จะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในรสชาติและรสสัมผัสที่ใช้ ซิงเกิ้ลมอลต์ เป็นรสชาติตั้งต้นของค็อกเทลแก้วนั้นๆ แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการนำไปทำค็อกเทลนั้น ต้องเข้าใจในคุณสมบัติของของเหลวทุกชนิดอย่างแม่นยำ และรุ้ว่าควรใช้อะไรในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อส่งเสริมให้ค็อกเทลแก้วนั้นๆ มีความสมดุลของรสชาติที่ดี หรือที่เราคุ้นเคยกันในคำว่า BALANCE IN COCKTAILS นั่นเอง


SCOTCH EGGS & DEWAR WHISKY COCKTAIL


เพื่อเป็นการยืนยันคำพูดเรื่องการนำวิสกี้มาปรุงเป็นค็อกเทลตามคำบอกเล่าของ จอร์จี เบลล์ มื้อนี้จึงเริ่มต้นด้วยเมนูเรียกน้ำย่อย Scotch Eggs  ที่ไม่ได้เกี่ยวใดๆ กับประเทศสกอตแลนด์ ไม่ได้เป็นอาหารประจำชาติเพราะถือเป็นเมนูเรียกน้ำย่อยที่กินอิ่มอยู่ท้องแบบจริงจังของชาวอังกฤษ โดยตั้งใจเสิร์ฟคู่มากับค็อกเทลที่ใช้ DEWAR'S Whisky เป็นส่วนผสมหลัก และเพิ่มความสดชื่นให้สดใสด้วย Berry Liqueur ผลลัพธ์ที่ได้คือความสดชื่นหอมละมุนอ่อนๆ เหมาะแก่การเป็นเครื่องดื่มแก้วแรกเพื่อปรับสมดุลในการรับรสของลิ้น ก่อนที่จะลิ้มรสซิงเกิ้ลมอลต์แบบจริงจังหลังจากนี้


ABERFELDY12
WITH POACHED PEAR WITH CINNAMON & RED WINE




ลืมบอกไปว่ามื้อนี้เราได้รับเกียรติจากเชฟมาเรียน บารีเน็ก (CHEF MARIAN BARENEK) เจ้าของร้าน MARIAN URBAN GASTRO BAR ที่ทองหล่อ 13  ที่มาช่วยสร้างสรรค์เมนูความอร่อยที่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วว่าจะช่วยเสริมส่งให้รสชาติของซิงเกิ้ลมอลต์ จาก JOHN DEWAR & SONS โดดเด่นและสามารถจิบควบคู่ไปกับการทานอาหารได้อย่างลงตัว โดยจานที่เสิร์ฟถัดมาคือ Poached Pear with Cinnamon & Red Wine ที่นำลูกแพรไปตุ๋นกับไวน์แดง อบเชย และวานิลลา จนได้ความฉ่ำหอมแบบเข้าเนื้อลูกแพร เมื่อมาทานคู่กับ ซิงเกิ้ลมอลต์  ABERFELDY 12 ของ  JOHN DEWAR & SONS ที่คู่ควรแก่การเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำบ้านที่หนุ่มๆ ควรมีติดบ้านไว้ปราบแรงพยศส่วนตัวให้กับมาสงบ นิ่ง สุขุม และมีมาด ด้วยรสชาติที่อาบไว้ด้วยอนุภาคแห่งความหวานของละอองน้ำผึ้งป่าสีทอง สมศักดิ์ศรี ซิงเกิ้ล มอลต์ แห่งตำนานที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1998 ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘THE GOLDEN DRAM’ เพราะก่อเกิดจากแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุทองคำที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังของสกอตแลนด์ รสชาติความหวานฉ่ำของลูกแพรจึงเหมาะเจาะลงตัวกับ ABERFELDY 12 ราวสาวสวยบ้านไร่ที่สดใส กับชายหนุ่มราชนิกุลผู้สุขุม มีมาด และมากเสน่ห์ อย่างไรอย่างนั้น

AULTMORE 12
WITH MARIAN'S BARBECUE PORK RIBS




จานถัดมาเป็นจานหลักที่ตั้งใจเสิร์ฟมาให้ดื่มด่ำกันแบบไม่ต้องเร่งไม่ต้องรีบ เพราะเชฟส่งจานเด่นประจำร้านอย่าง Marian’s Barbecue Pork Ribs ซี่โครงบาร์บีคิว ที่มีสูตรเฉพาะในการเตรียม ปรุง เพื่อให้ได้เนื้อที่เนียนนุ่มจนแทบละลายในทันทีที่สัมผัสปลายลิ้น โดยเมนูนี้ จอร์จี เบลล์ แนะนำให้ทานคู่กับวิสกี้ที่เป็น Blender’s Secret อย่าง AULTMORE 12 ซิงเกิ้ลมอลต์ ที่มีประวัติมายาวนาน และมีอายุเก่าแก่ถึง 121 ปี ในดินแดนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสกอตแลนด์ ห่างจากใจกลางเขต SPREYSIDE (สเปย์ไซด์) เพียงเล็กน้อย โดย AULTMORE 12 นี้ พิเศษด้วยศิลปะของกระบวนการกลั่นจากแหล่งน้ำลึกลับ ที่ปกคลุมด้วยหมอก ที่เรียกกันว่า FOGGIE MOSS จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องประหลาดใจเมื่อลิ้นรับรู้รสชาติที่โดดเด่น อบอวลไปด้วยกลิ่นสมุนไพร ตั้งแต่หยาดหยดแรก จนถึงกลิ่นส่งลาที่ขอบแก้ว

CRAIGELLACHIE 13
AND CHOCOLATE TRUFFLE WITH CHERRY BRANDY



และเมื่อมาถึงจานที่เป็นของหวาน ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องของความสมดุลของรสชาติ เพราะส่วนใหญ่แล้วของหวานมักฆ่ารสชาติที่ดีของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม แบบหาความลงตัวและเข้ากันได้ดีไม่ง่ายนัก

โดย จอร์จี เบลล์ จัด CRAIGELLACHIE 13 (เครกกีราชี 13) ซิงเกิ้ลมอลต์ ที่ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1891 ที่ภูมิกำเนิดได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักการคิดแบบการอยู่ร่วมกันและเป็นมิตรต่อกัน เหมือนหลัก หยินหยาง ที่ใช้กระบวนการผลิตร่วมกันระหว่างแบบดั้งเดิมผสานรวมกันกับเทคโนโลยียุคใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ จึงเป็นซิงเกิ้ลมอลต์ ที่ฟูลบอดี้วิสกี้ ที่หนักแน่น จริงจัง และอ่อนโยน เสมอเหมือนคุณพ่อร่างใหญ่ใจดีที่แสนอบอุ่น จนได้รับรางวัลระดับโลกมานับไม่ถ้วน เมื่อถูกเสิร์ฟมาให้ทานคู่กับ ของหวาน อย่าง Chocolate Truffle with Cherry Brandy รสชาติที่ได้จึงเป็นการหยอกล้อกันไปมาระหว่างลูกสาวตัวน้อยจอมซน กับคุณพ่อที่พร้อมโอบกอดด้วยความอบอุ่นอย่างเจนโลกในวันที่รู้ว่าควรปลอบประโลมลูกในวันที่เหนื่อยล้าเยี่ยงไร ถือเป็นซิงเกิ้ลมอลต์ตัวปิดท้ายที่สร้างความทรงจำได้อย่างน่าประทับใจและยากจะลืมเลือน




จบมื้อนี้ จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันและพิสูจน์ได้ว่าการดื่มซิงเกิ้ลมอลต์ ที่เข้าใจในศาสตร์และศิลป์ และรู้จักการดื่มอย่างพอดี ดื่มอย่างมีอารยะนั้น มีส่วนในการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างในรสชาติและรสสัมผัสที่น่าจดจำเพียงใด และหากเป็นไปได้ ถ้าคุณจอร์จี เบลล์ โกลบอล แบรนด์แอมบาสเดอร์ ของ John Dewar & Sons มีโอกาสกลับมาเยือนไทยในครั้งหน้า ว่าจะชวนไปลองอาหารรสจัดแบบไทยๆ แล้วเลือกจับคู่กับซิงเกิ้ลมอลต์กันดูว่าเมนูไทยๆ เมนูไหนที่เหมาะสมลงตัวกับซิงเกิ้ลมอลต์ระดับโลกจากสกอตแลนด์บ้าง

RELATED