SHARE
AKAYANE รสชาติแห่งวิถีชีวิตนักดื่ม

ฤดูกาลแห่งคราฟต์จิน จากคาโกชิมะ

SHARE


หากคุณเป็นคนชอบรสชาติและหลงรักวัฒนธรรมการดื่มจิน นี่คืออีกหนึ่งประสบการณ์แห่งคราฟต์จินที่ผสานศาสตร์และศิลป์ของวัฒนธรรมและรสนิยมของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ อากายาเนะ (Akayane) ที่สร้างสรรค์โดยคุณ Timothee Traber ทายาทของโรงกลั่น Metté Distillery แห่งแคว้นอัลซาช ฝรั่งเศส ที่มาร่วมมือกับโรงกลั่นดั้งเดิมบนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเชี่ยวชาญในการผลิตเหล้าโชจู โดยใช้มันเทศ วัตถุดิบที่ขึ้นชื่อแห่งเมืองคาโกชิมะ เป็นวัตถุดิบในการผลิต และเฉกเช่นเดียวกันกับอากายาเนะ จิน ที่นอกจากจะมีจูนิเปอร์เป็นส่วนผสมสำคัญแล้ว ยังมากไปด้วยวัตุดิบพื้นบ้านท้องถิ่นของญี่ปุ่น ที่ถูกเลือกมาใช้สำหรับสร้างสรรค์จิน 4 รสชาติ สำหรับ 4 ฤดูกาล โดยแต่ละรสชาติประจำฤดูกาลแห่งวิถีการดื่มนั้น ถูกกำหนดส่วนผสมหลักที่สำคัญไว้เพียงรสชาติละ 6 ชนิดเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ดื่มได้รับรสชาติที่ผสมผสานกันมาเป็นจินได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์มากที่สุด





เราคงไม่ได้มีประสบการณ์ในการลิ้มรส และได้รู้จัก กับ Akayane Craft Gin ในครั้งนี้ หากขาดบุคคลผู้นี้ไป แน่นอนว่าหากเอ่ยถึง คุณณิกษ์ อนุมานราชธน ที่นอกเหนือจากเป็นผู้ก่อตั้งบาร์ค็อกเทลคุณภาพอย่าง Teen of Thailand และ Asia Today แล้ว คุณณิกษ์ อย่างเป็นผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลในวัฒนธรรมการดื่มจินอย่างจริงจัง จนถึงขั้นเป็นต้นคิดในการจัดงาน BKK GIN FEST ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้ง 2 ครั้ง ที่ผ่านมา และก่อนที่จะถึงงาน BKK GIN FEST ในปีนี้ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของการนำเสนอวัฒนธรรมการดื่มจินที่น่าสนใจ กับการเป็นตัวแทนในการนำเข้า Akayane Craft Gin ที่มีรสชาติอันเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นจากเมืองคาโกชิมะ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น



ที่มาที่ไปของการเกิด Akayane Craft Gin นั้น เกิดจากคุณซาตะ (Sata)  ซึ่งเป็นเจ้าของและประธานบริษัท ของโรงกลั่น อากายาเนะ (Akayane) ซึ่งเชี่ยวชาญในการผลิตเหล้าโชจู  มีความตั้งใจและอยากหาคู่ค้าหรือขยายฐานการผลิตในการกลั่นสุราใหม่ ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ pot still จึงได้ออกเดินทางไปยุโรป และไปที่ฝรั่งเศส จนไปพบกับเจ้าของโรงกลั่น Metté Distillery ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณ Timothee Traber ซึ่งเมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและเห็นพ้องต้องกัน คุณ Timothee Traber จึงได้เดินทางมาที่ เมืองคาโกชิมะ เพื่อเริ่มผลิตจินจากโรงกลั่นเดิมและใช้ชื่อว่า Akayane Craft Gin โดยคำว่า อากายาเนะ นั้น หมายถึง หลังคาสีแดง แบบเดียวกันกับโรงกลั่น Metté Distillery ที่เมืองอัลซาช






 

FUYU
ประกอบด้วย: Juniper berries, Sakurajima komikan, Tankan, Kinkan, Yuzu และ Passion fruit


ฟูยุ (ฤดูหนาว) ซึ่งแน่นอนว่าส่วนผสมหลักตั้งต้น คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก Juniper ซึ่งทุกคนที่อยู่ในวงการกลั่นจิน และนักดื่มจิน ล้วนรู้กันดีว่า Juniper มีลักษณะทางกายภาพที่มีคุณสมบัติเฉพาะอันโดดเด่นสำหรับการใช้ในการกลั่นเหล้าจิน และข้อดีคือพบได้มากในหลายพื้นที่ของโลก ทั้งอลาสก้าตะวันตก แคนาดา สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ ชายฝั่งของกรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ทั่วยุโรป และตอนเหนือของเอเชีย รวมถึงญี่ปุ่นด้วย

และเพราะฤดูหนาวนั้น ถือเป็นฤดูที่ส้มให้รสชาติที่ดี มีความเปรี้ยวและหวานฉ่ำ  Akayane  Fuyu จึงเลือกวัตถุดิบที่เป็นส้มหลากชนิด ทั้งส้มที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูกาล และส้มนอกฤดูกาลจากภูมิภาคอื่นในญี่ปุ่น อันประกอบด้วย ส้มซากุระจิมะโคมิกังผลเล็ก ซึ่งปลูกบนเกาะเล็กๆ ในเมืองคาโกชิมะ, ส้ม tankan เป็นส้มตระกูล Cirtus Fruits, ส้มกิมจ้อ และส้มยูซุ ตบท้ายด้วยเปรี้ยวหวานแบบ Tropical อย่าง Passion fruit

รสชาติที่ได้จึงสดชื่นแบบจิบง่าย ละมุนลิ้น หวานหอม ซับซ้อนด้วยหลากมิติความเปรี้ยวของส้มหลากสายพันธุ์ที่มาแบบน้อย ๆ อวล ๆ ในจังหวะที่กำลังดี อุ่นร้อนในกระพุ้งแก้มแบบเบา ๆ เหมือนลูกสาวสวนส้มจอมซนที่ไปคลุกอยู่ในกองส้ม ก่อนจะวิ่งมาสวมกอดเรา



 

HARU
ประกอบด้วย: Juniper berries, Sakura flowers & leaves, Kombu seaweed, Yuzu, Sansho pepper และ Green tea

ฮารุ หรือ ฤดูใบไม้ผลิ ที่แน่นอนว่านอกจากจะมี จูนิเปอร์เบอร์รี เป็นวัตถุดิบตั้งต้นแล้ว วัตถุดิบที่ถูกเลือกมาอีก 5 ชนิด ก็ล้วนเป็นตัวแทนของฤดูกาลนี้ ทั้งดอกและใบซากุระจากเมืองเกียวโตที่ให้รสเค็มอ่อน ๆ  สาหร่ายคอมบุ กับความนวลเนียนของรสชาติที่เรียบง่าย และหวานอมเปรี้ยวบาง ๆ จากสัมยูซุ ที่มาพร้อมกับความเผ็ดซ่าหวานปลายของซานโช หรือพริกไทยญี่ปุ่น จบด้วยความขมอมหวานแบบมี Smoky น้อย ๆ ตอนท้ายของ ชาเชียวญี่ปุ่น

รสชาติแรกจิบนั้น เชื่อว่าจะล่อลวงให้ทุกคนตกหลุมรักได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ด้วยเนื้อแท้ของความซับซ้อนหลากมิติของรสชาติที่ผสานเข้ากันอย่างกลมเกลียว เน้นหนักเน้นเบาของรสชาติได้อย่างพอดี Akayane  Haru จึงดีงามทั้งดื่มแบบ on the rock แบบไม่ต้องพึ่งส่วนผสมอื่นใด หรือจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมของ classic cocktail อื่น ๆ ก็ย่อมให้รสชาติที่ดีพร้อมอย่างไม่มีอะไรต้องกังขา




 

NATSU
ประกอบด้วย: Juniper berries, Japanese plum, Kombu seaweed, Cucumber, Shiso leaf และ Matcha tea


นัตซุ หรือ ฤดูร้อน ที่แน่นอนว่านอกจากจะมี จูนิเปอร์เบอร์รี เป็นวัตถุดิบตั้งต้นแล้ว วัตถุดิบที่ถูกเลือกมาอีก 5 ชนิด ก็ล้วนมีรสชาติและอัตลักษณ์อันโดดเด่นที่ตอบโจทย์และเป็นตัวแทนของฤดูร้อนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น บ๊วยญี่ปุ่น กับความฉ่ำหวานอมเปรี้ยว สาหร่ายคอมบุ ที่มาช่วยบาลานซ์ของรสชาติให้นวลและเนียนยิ่งขึ้น เพิ่มความเย็นสดชื่นด้วยแตงกวา และใบชิโสะ ตบท้ายด้วยมิติที่ซับซ้อนของผงมัทฉะ จากใบชาญี่ปุ่นหลากสายพันธุ์

รสชาติของ Akayane  Natsu นี้ พูดได้ว่านวลเนียน สว่างใส ไม่ซับซ้อนหรือลึกล้ำแบบยากต่อการค้นหา จิบได้แบบคล่องคอ ดับร้อน แก้กระหายได้ราวกับสาวน้อยวัยใส มารินเหล้าบางเบาแบบเย็น ๆ คอยพัดวีให้สบายใจ จะเสิร์ฟแบบ Gin Tonic ก็ยังได้ ซึ่งหากได้โทนิคคุณภาพพรีเมี่ยม แก้วนี้จิบกันได้เพลิน ๆ เกินห้ามใจเลยทีเดียว



AKI
ประกอบด้วย: Juniper berries, Sweet potato skins, Vanilla, Maitake, Shimeji และ Kabosu


อากิ หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ที่แน่นอนว่านอกจากจะมี จูนิเปอร์เบอร์รี เป็นวัตถุดิบตั้งต้นแล้ว วัตถุดิบที่ถูกเลือกมาอีก 5 ชนิด ก็ล้วนโดดเด่นและพร้อมสร้างความประทับใจแบบเปิดโลกใหม่ของจินโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็น เปลือกมันเทศสุก ฝักวานิลลา เห็ดมิตาเกะและชิเมจิ ตบท้ายด้วยมะนาวพื้นบ้าน ที่มีเปลือกหนาอย่างโคโบซุ

ความน่าสนใจของ Akayane  Aki คือเสน่ห์ของกลิ่นดิน กลิ่นป่า กลิ่นความชื้น ที่ดูดิบ เถื่อน ตบแรง แต่มีเสน่ห์ เป็นรสชาติที่มีความซับซ้อนและชวนค้นหา เพียงจิบแรกจะให้ความรู้สึกเหมือนหนุ่มซามูไรที่โดนกระซวกท้องวิ่งลงมาจากป่าเชิงเขา นักดื่มสายแข็งน่าจะชอบจินตัวนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น 





จากประสบการณ์การได้ลิ้มรส Akayane Craft Gin ทั้ง 4 รสชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของ 4 ฤดูกาลของญี่ปุ่นแล้ว คุณณิกษ์ อนุมานราชธน เจ้าสำนักของ Teen of Thailand และ Asia Today ได้ให้เกียรติในการปรุงค็อกเทลให้ได้ลองชิมจาก Akayane Craft Gin โดยเลือก Akayane  Haru มาทำเป็น Martini และเลือก Akayane Aki มาทำเป็น Negroni ซึ่งนอกจากจะนับได้ว่าเป็นความโชคดี ที่ได้มีโอกาสได้สัมผัสรสมือจากบาร์เทนเดอร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่พูดเต็มปากได้ว่านี่คือหนึ่งใน Mixologist ที่มีเพียงไม่กี่คนของบ้านเรา จึงเชื่อมือได้เลยว่าค็อกเทลทั้งสองแก้วนี้ไม่ธรรมดาและควรค่ากับคำว่า “บุญลิ้น” อย่างแท้จริง




สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจ อยากลองลิ้มรส Akayane Craft Gin ทั้ง 4 รสชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของ 4 ฤดูกาลของญี่ปุ่น นี้ สามารถแวะไปลองได้ที่ Asia Today และ Teens of Thailand รวมถึงในงาน Bangkok Gin Fest ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน

RELATED